Category: Book Re:commendation

  • [Book Re:commendation] บันทึกในกลักไม้ขีด

    “แบร์ลุสโกนีเกลียดผู้พิพากษาทุกคนและขอให้เราเกลียดตามเขาอีกทั้งยังให้เกลียดคอมมิวนิสต์ทุกคนด้วยแม้ว่าจะต้องมองเห็นคอมมิวนิสต์ในที่ซึ่งไม่มีคอมมิวนิสต์อยู่แล้วก็ตาม” ——————-จากเรื่อง ว่าด้วยความเกลียดและความรัก “ผมเคยเล่าหลายที่แล้วว่าหลังจากเที่ยวชมมหาวิหารในฝรั่งเศสและถ่ายรูปเหมือนคนบ้าในปี 1960ผมเลิกถ่ายรูปได้อย่างไรครั้งนั้นพอเที่ยวเสร็จกลับมาผมพบว่าตัวเองมีภาพถ่ายแสนธรรมดาเป็นชุดๆแต่จำไม่ได้เลยว่าเห็นอะไรมาบ้าง” ——————-จากเรื่อง เค้กสตรอว์เบอร์รีครีมสด “เมื่อก่อนด้านในของกลักไม้ขีดไฟยี่ห้อ Minerva เป็นพื้นที่ว่างทั้งส่วนบนและล่าง เราจะจดอะไรลงไปในนั้นก็ได้ ผมจึงตั้งใจให้บทความเหล่านี้เป็นบันทึกเกร็ดสารพันเรื่องตามแต่ผมจะนึก ทุกเรื่อง (หรือเกือบทุกเรื่อง) ที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นการพิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ใน ‘สังคมไหล’ (Liquid Society) ด้วยความผิดของกาลเวลามากกว่าของผม เนื้อหาจึงไม่ปะติดปะต่อกันเหมือนที่คนฝรั่งเศสพูดว่า มีตั้งแต่เรื่องไก่ยันเรื่องลา” “บันทึกในกลักไม้ขีด” รวมบทความเล่มสุดท้ายของ อุมแบร์โต เอโคเขียนระหว่างปี 2000-2015 แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

  • [Book Re:commendation] “ผัวเดียว เมีย…เดียว: อาณานิคมครอบครัวในสยาม”

    “ถ้าให้มีเมียเดียว ประเทศของเรายังไม่พร้อม จักทำให้คนเดือดร้อน….” —- ข้อความบางส่วนจากพระราชดำรัส สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ ที่ประชุมเสนาบดีสภาเมื่อคราวลงมติเรื่องกฎหมายครอบครัว.. ช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชนชั้นปกครองสยามมองว่า “ผัวเดียวเมียเดียว” คือ “ของนอก” ที่จะก่อปัญหานานัปการ จึงรักษาจารีต “ผัวเดียวหลายเมีย” ไว้ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตกและความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยที่ผลักดันให้ผู้คนออกมาวิจารณ์ปัญหาเพศสภาพ เพศวิถี และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในที่สุด ก่อนที่ “ผัวเดียวเมียเดียว” จะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันในปัจจุบัน…….“ผัวเดียว เมีย…เดียว: อาณานิคมครอบครัวในสยาม” เล่มนี้จะพาเราไปเสาะสำรวจการเข้ามาของวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวในไทย การตอบโต้และตอบรับต่อวัฒนธรรมดังกล่าว สายธารความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและบทสรุปว่าด้วยรูปแบบครอบครัว รวมไปถึงการประดิษฐ์สร้าง “ผัวเดียวเมียเดียวแห่งชาติ” ครอบครัวภายใต้โครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรม ผัวเดียว เมีย…เดียว: อาณานิคมครอบครัวในสยามโดย สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจสำนักพิมพ์มติชน

  • [Book Re:commendation]เบสเมนต์ มูน

    3 ตุลาคม ค.ศ. 2016, นักเขียนไทยวัยกลางคนชื่อปราบดา หยุ่น ได้รับข้อความประหลาดผ่านโทรศัพท์มือถือบงการให้เขาเดินทางไปยังตึกร้างในย่านเก่าของกรุงเทพฯ แม้ไม่เข้าใจอะไรนัก, และมีความเป็นไปได้ที่จะเสียสติเพราะความหดหู่ของบรรยากาศสังคม, เขายอมทำตามคำสั่งลึกลับนั้น. การสื่อสารปริศนาเกลี้ยกล่อมให้ปราบดาคิดว่ากการกระทำของเขาจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น. เรื่องเล่าที่ปราบดาได้ฟังในห้องของตึกร้างซับซ้อนพิสดารกว่าที่เขาจะสามารถจินตนาการเอง. มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคต, ความรุนแรงและความสูญเสียระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า, ไกลไปถึงความเป็นไปของสังคมไทยและโลกในปี ค.ศ. 2069, ยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวไกลถึงขั้นสร้าง “จิตสำนึกประดิษฐ์” ได้สำเร็จ. จิตสำนึกประดิษฐ์ส่วนหนึ่งตกเป็นเครื่องมือขององค์กรลับชื่อ “โววา” ซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อรับใช้กลุ่มประเทศอำนาจนิยม, ทางการไทยก็ต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ค้นหาและกำจัดขบวนการใต้ดินที่กำลังเริ่มแพร่เชื้อกระด้างกระเดื่องด้วยข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม, พยายามรื้อฟื้นความทรงจำหมู่ในประวัติศาสตร์ที่ทางการได้ลบล้างไปเป็นเวลานาน. เหมือนเป็นเรื่องแต่งไซไฟ-แฟนตาซี, แต่สิ่งที่ห้องร้างป้อนใส่การรับรู้ของปราบดาดูจะเชื่อมโยงกับโลกจริงอย่างไม่น่าเชื่อ. จิตสำนึกประดิษฐ์ในอนาคตอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ห้องนั้นสามารถ “คุย” กับปราบดาได้. เรื่องเล่าของห้องร้างพาไปรู้จักกับ “สุญสตรี” และ “สำเนาสำนึก” ภายใต้ชื่อ “ญานิน” และรื้อฟื้นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น, แต่กลับเหมือนเป็นความทรงจำของใครบางคน. เบสเมนต์ มูนโดย ปราบดา หยุ่นสำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น

  • [Book Re:commendation] นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง

    “เมื่อพิจารณาถึงความผันแปรของบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รวมไปถึงข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมก็ไม่อาจปฏิเสธถึงความเป็น “การเมือง” ในบทบัญญัติเหล่านี้ได้ หรือแม้กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าพลังอำนาจของอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองแห่งยุคสมัยมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหลักวิชาในการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญของไทย”———————————–สมชาย ปรีชาศิลปกุล “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง: ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2475-2550” เล่มนี้ ไม่เพียงแต่เข้าไป “อ่าน” รายงานการประชุมสภา/กรรมาธิการ เพื่อให้เห็นการอภิปรายและไม่อภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตลอดเวลา 75 ปี แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน….———————————–สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง: ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2475-2550โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุลสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

  • [Book Re:commendation] เดอะ ไทม์ แมชชีน

    ” …..ความเข้มแข็งคือผลลัพธ์ของความอ่อนแอ ความมั่นคงปลอดภัยก็คือการให้ค่าความสำคัญกับความอ่อนแอ…..”—————บางส่วนจาก เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine) “เดอะ ไทม์ แมชชีน : The Time Machine” ผลงานชิ้นเยี่ยมของ “H.G.Wells” ว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางด้วยเครื่องท่องเวลาของตัวเอกไร้ชื่อ ผ่านเรื่องราวที่ชวนระทึกหลายต่อหลายครั้ง จวนเจียนจะเอาตัวไม่รอด พร้อมด้วยประสบการณ์และความรับรู้ที่แปลกใหม่มากมายซึ่งโลกปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงได้ แล้วกลับออกมาเล่าให้เพื่อนฟัง ก่อนที่จะหายตัวไปอีกครั้ง เป็นสูตรสำเร็จที่มีนักเขียนรุ่นต่อมาลอกเลียนหรือประยุกต์กันอย่างแพร่หลาย…….. เดอะ ไทม์ แมชชีน (The Time Machine)โดย H.G. Wells แปลโดย ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุลสำนักพิมพ์สมมติ

  • [Book Re:commendation] ออร์แลนโด: ชีวประวัติ

    “เธอไม่มีความยากลำบากใดๆ ในการรักษาบทบาทต่างๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงเพศของเธอนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากเกินกว่าที่ผู้เคยสวมเสื้อผ้าเพียงแบบเดียวจะเข้าใจได้ และไม่มีข้อกังขาใดๆ ด้วยว่าเธอได้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากวิธีการนี้เป็นสองเท่า ความสำราญของชีวิตเพื่อขึ้นและประสบการณ์ยิ่งทวีคูณเธอแลกความเย้ายวนของกระโปรงกับความตรงไปตรงมาของกางเกงขี่ม้าและรื่นรมย์กับความรักของทั้งสองเพศอย่างเท่าเทียมกัน….” ออร์แลนโดฯ คือ “ชีวประวัติ” เทียมอันแสนสนุกของบุคคลผู้กลายสภาพไปตามยุคสมัยแห่งประวัติศาสตร์ เป็นอมตะและไม่แก่ชรา ผู้ซึ่งเปลี่ยนเพศและอัตลักษณ์ได้ตามใจต้องการ จากชาย…กลายเป็นหญิง ออร์แลนโดเริ่มต้นชีวิตในฐานะขุนนางหนุ่มนักประพันธ์รูปงามในราชสำนักของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งผู้ซึ่งอยู่ในวัยชรา ก่อนที่ในเช้าวันหนึ่งเขาจะตื่นมาพบว่า ตัวเองได้กระโจนข้ามห้วงเวลากว่านับศตวรรษไปสู่ศตวรรษที่ 18 และนอกจากนั้น เขายังกลายเป็นผู้หญิงด้วย……. ออร์แลนโด: ชีวประวัติโดย เวอร์จิเนีย วูล์ฟสำนักพิมพ์ Library House

  • Book Re:commendation] เรื่องฝัน (นิยายภาพและนวนิยายฉบับเต็ม)

    ฟริโดลิน นายแพทย์ใหญ่รวยเสน่ห์ มีชีวิตเพียบพร้อม ทั้งภรรยาผู้เลอโฉม ลูกเล็กน่ารัก และหน้าที่การงานมั่นคงแต่ในคืนแห่งอารมณ์แปรปรวนร้อนรุ่ม เขาต้องผจญภัยไปในด้านมืดของตัวเอง ด้วยความคุกรุ่นจากความหึงหวง ความหยิ่งผยอง ความอยากรู้อยากเห็น แรงปรารถนาราคะ และความบ้าบิ่นไร้สติ ฟริโดลินพาตัวเองไปร่วมงานปาร์ตี้สวมหน้ากากชวนตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่นานเขาก็พบว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นที่คิด เขาอาจเป็นต้นเหตุทำให้ชีวิตหญิงสาวนางหนึ่งตกอยู่ในอันตราย การกระทำมากมายของเขาในคืนนั้นสะท้อนความอัปลักษณ์ในจิตใจออกมาอย่างเปิดเปลือย รวมทั้งในความรู้สึกที่เขามีต่ออัลแบร์ทีเน่ภรรยาที่เขาทั้งรักและแค้นอย่างลึกซึ้งพอๆ กัน… “เรื่องฝัน” เป็นนวนิยายขนาดสั้นของนักเขียนชาวออสเตรีย อาทัวร์ ชนิตซ์เลอร์ ผู้ได้ชื่อว่าบุกเบิกวรรณกรรมตะวันตกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในแง่การเจาะลึกถึงภาวะทางจิตของตัวละครได้อย่างละเอียดและสะท้อนความซับซ้อนของมุนษย์ได้หมดจดจนน่าสะพรึง เรื่องฝัน เป็นผลงานชั้นเอกของชนิตซ์เลอร์ และเป็นที่ชื่นชมของนักอ่านทั่วโลก โดยผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน สแตนลีย์ คูบริก ได้นำเนื้อหาจาก เรื่องฝัน ไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา โดยใช้ชื่อว่า “Eyes Wide Shut” เรื่องฝันโดย อาทัวร์ ชนิตซ์เลอร์นิยายภาพโดย ยาค็อบ ฮินริชส์แปลโดย เฟย์ อัศเวศน์สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

  • [Book Re:commendation]ฟ้าบ่กั้น

    “ลาว คำหอม” เคยกล่าวไว้อย่างเจียมตนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของเขาไว้ในคำนำผู้เขียนฉบับภาษาสวีดิชว่า “ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’ ฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมากของประเทศไทย” — ดูเหมือนว่าฤดูกาลที่ลาว คำหอม พูดไว้จะยาวนานเป็นพิเศษ เพราะจนวันนี้แม้จะล่วงเลยมากว่า 5 ทศวรรษนับแต่พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2501 แต่เรื่องราวใน ฟ้าบ่กั้น ยังดูเสมือนว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรืออันที่จริงควรกล่าวว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้กำลังดำเนินอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ชื่อเสียงหน้าตาตัวละครอาจจะเปลี่ยนไป สถานที่และเหตุการณ์อาจจะแปลกตาไปจากเดิม แต่สารัตถะสำคัญในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นสิ่งที่เราควรสำเหนียกและเรียนรู้ เหนืออื่นใด ในยุคสมัยที่เสียงอวดอ้าง “คุณธรรม” “จริยธรรม” “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ดังกัมปนาทกึกก้องกลบเสียงและสิทธิของประชาชนคนจนในชนบทผู้ถูกปรามาสมากขึ้นทุกทีว่า “โง่ งก จน เจ็บ” เช่นที่เป็นอยู่นี้ ฟ้าบ่กั้น ยิ่งเป็นหนังสือที่เราควรจะหวนกลับไปอ่านเป็นอย่างยิ่ง…………. —————บางส่วนจากบทนำ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ฟ้าบ่กั้นรวมเรื่องสั้นโดย ลาว คำหอม พร้อมบทวิจารณ์โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์และภาพประกอบโดยวิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์สำนักพิมพ์อ่าน

  • [Book Re:commendation] ร้าวรานในวารวัน (The Glass Palace)

    “เชิญพวกท่านแลมองรอบ ๆ เถิด ดูให้เต็มตาว่าพวกเราอยู่กันอย่างไร ถูกแล้วเราที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียและ ตอนนี้กลับตกต่ำถึงเพียงนี้ นี่คือสิ่งที่พวกมันกระทำต่อเรา และเป็นสิ่งที่พวกมันจะกระทำต่อพม่าทั้งมวลเช่นกัน……พวกมันพรากอาณาจักรเราไป สัญญาว่าจะสร้างถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ แต่จำคำเราไว้ให้ดี มันจะลงเอยเหมือนเช่นนี้ ในไม่กี่ทศวรรษความมั่นคั่งจะสูญสิ้น ทั้งอัญมณี ทั้งไม้สัก ทั้งน้ำมัน แล้วเมื่อนั้นพวกมันจะละทิ้งไปเช่นกัน….. เราคือพวกแรกที่ถูกจองจำในนามความก้าวหน้าของพวกมัน คนอีกนับล้านย่อมตกต้องตามกัน นี่คือสิ่งที่เราทุกคนล้วนต้องประสบ นี่คือวิถีที่เราทุกคนจะลงเอย ในฐานะเชลยกลางสลัมแหล่งโรคระบาด……” “ร้าวรานในวารวัน (The Glass Palace)” เรื่องราวความร้าวรานจากอดีตที่เป็นมรดกตกทอด จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ไม่มีวันจางหายไป ว่าด้วยเรื่องราวของ ราชกุมาร หนุ่มกำพร้าที่ล่องเรือมาไกลจากอินเดียเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มัณฑะเลย์ และ ดอลลี่ นางกำนัลของพระนางศุภยาลัต ที่ต้องติดตามนายหญิงไปปรนนิบัติรับใช้ ไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน ถึงรัตนคีรี จากการอยู่ห่างไกลบ้าน ทำให้ทั้งคู่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนแม้แต่น้อย ราชกุมารไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอินเดีย ส่วนดอลลี่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพม่า ทั้งสองได้พบรักและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในร่างกุ้ง ชีวิตของราชกุมารนับวันจะยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความเป็นไปในพม่าที่นับวันยิ่งมีแต่ทีจะถดถอยลง….. ชีวิตที่ผ่านบาดแผลจากอดีตของทั้งคู่ เกิดเป็นมรดกแห่งความโทรมนัสที่ส่งผลมายังรุ่นลูกอย่างนีลและดินู ที่ต้องจมอยู่กับอัตลักษณ์ของตนเองที่หายไป และคำถามที่เผชิญในจิตใจว่า รากเหง้าของเราคือใคร และมาจากที่ไหน โดยเฉพาะดินู ผ่านฉากหลังที่เล่าเรื่องราวด้วยหลายเหตุการณ์สำคัญใหญ่ที่มีผลกระทบต่อตัวละครทั้งหมด ทั้งสงครามโลก…

  • [Book Re:commendation]หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    เขตเศรษฐกิจพิเศษ มักถูกนิยามโดยนักวางแผนทางนโยบายและองค์กรระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจทั้งในเชิงกายภาพและเชิงกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐภายในขอบเขตเฉพาะหนึ่งๆ เพื่อเป้าประสงค์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วยระบอบการควบคุมกำกับที่แตกต่างไปจากระเบียบทางเศรษฐกิจที่ใช้ในที่อื่นๆ ของประเทศ และนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา เขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั้งในเอเชีย ลาตินอเมริกา แคริบเบียนและอัฟริกา…. เล่มนี้ จะพาเราไปสอดส่องเรื่องราวว่าด้วยรูปแบบและกลไกของเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละรัฐ/ ประเทศ ทั้งในแง่ของจุดกำเนิด พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ผลกระทบ เงื่อนไขความสำเร็จ และความล้มเหลว โดยเชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และชี้ให้เห็นว่า พลวัตของเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่ซับซ้อนมากกว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดังที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้าใจ หากแต่ยังงครอบคลุมไปถึงการก่อตัวของรัฐและทุนท้องถิ่น การกำกับและควบคุมของอำนาจรัฐ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การสูญเสียที่ดิน และปัญหาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนหน้า 271 หน้า

Design a site like this with WordPress.com
Get started