ชวนอ่าน : หนังสือประวัติศาสตร์ ล้านนานอกกระแส

ชวนอ่าน : หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนานอกกระแส 
และความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นที่พวกเรา Book Re:public อยากนำเสนอ
กับหนังสือประวัติศาสตร์คู่ขนานกับบางมุมที่ถูกซ้อนไว้และเราอาจไม่เคยรู้มาก่อน 
ผ่านมุมมอง ข้อโต้เถียงของคนท้องถิ่นกับข้อเท็จจริงที่รัฐไทยสร้าง สะท้อนถึงอำนาจรวมศูนย์ผ่านการเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์

  • ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา : ความเคลื่อนไหวของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
    โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
    โดย รัตนาพร เศรษฐกุล
  • ทวนกระแสประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำวัง
    โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • ปรินส์รอยฯ 131 ปี (พ.ศ. 2430-2561)
    โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง
  • กบฎเงี้ยว : การเมืองของความทรงจำ 
  • ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ รัฐจารีต สู่การสร้างอาณานิคมภายในภายใต้วาทกรรม “รัฐชาติ”
    โดย ชัยพงษ์ สำเนียง

ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา : ความเคลื่อนไหวของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์

หนังสือที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันของความสัมพันธ์กันทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมของสังคมไทยและท้องถิ่นล้านนาที่ปรับเปลี่ยนไปผ่านการวิเคราะห์และการสืบเสาะข้อมูลแบบหลักมานุษยวิทยา หลากหลายประเด็น เช่นวัฒนธรรมความเชื่อทางพุธศาสนาที่เข้ามาแทนความเชื่อเกี่ยวกับผีของคนพื้นเมือง , แรงงานในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการโยกย้ายถิ่นฐาน , ระบบทุนนิยมกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจหมู่บ้านล้านนา


ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
โดย รัตนาพร เศรษฐกุล

ประวัติศาสตร์พัฒนาการทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนตั้งแต่การก่อตั้งอาณาจักรหริภูญไชยจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 
ซึ่งทำให้เห็นเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ไพร่หรือประชาชนต้องเผชิญกับผลกระทบนโยบายการปกครองแบบรวมศูนย์ การเข้ามาของมโนทัศน์การสร้างรัฐชาติลัทธิไทยนิยม และการรับเอาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างช้าๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นหลากมิติ


ทวนกระแสประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำวัง
โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

หนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าผ่านชุมชนน้อยใหญ่บริเวณ “ลุ่มน้ำวัง”ในฐานะส่วนหนึ่งของพื้นที่ภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่สร้างพลวัตของระบบเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งถูกเล่าผ่านประเด็นต่างๆ เช่น
การเส้นทางการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนที่ราบสูง สู่ชีวิตเมือง ,การก่อตัวขึ้นของกลุ่มอำนาจชนชั้นนำใหม่ , นโยบายการเมือง การปกครองที่เข้ามาควบคุมทิศทางการพัฒนาของกลุ่มชุมชนลุ่มน้ำวัง รวมไปถึงบทวิเคราะห์การสถาปนาอำนาจความรู้ของการจดจำประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นเพื่อนการดำรงอยู่ของอำนาจชนชั้นนำ
และปรากฎการณ์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์เมืองลำปางและพื้นที่โดยรอบในปัจจุบัน


ปรินส์รอยฯ 131 ปี (พ.ศ. 2430-2561)
ธเนศวร์ เจริญเมือง

หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์การศึกษาที่เริ่มจากหมุดหมายพื้นที่ทางการศึกษาที่สำคัญอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านประวัติศาตร์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย 
จากแนวคิด “บวร”
“บ้าน-วัด-โรงเรียน” เสาหลักของระบบการศึกษาที่ชุมชนมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน
ไปสู่แกะรอยประวัติศาสตร์การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันนิกายเพรสไบทีเรียนที่เข้ามาในเชียงใหม่ จากอุดมการที่ต้องการสร้างชีวิตครอบครัวและลูกหลานให้เจริญงอกงาม จนนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษา รสนิยม วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่มาโดยตลอด


กบฎเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ 
โดย ชัยพงษ์ สำเนียง


เรื่องราวของการสนองรับและขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปกครองที่เหล่าเมืองเล็กเมืองน้อยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของเมืองใหญ่ โดยศึกษาผ่านกรณี กบฎเงี้ยวเมืองแป้ หรือเมืองแพร่ ที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักการต่อสู้ของกบฎเงี้ยวเป็นที่ถูกพูดถึงในฐานะผู้ร้าย ไม่จงรักภัคดีต่อสยาม 
อีกส่วนหนึ่งของเนื้อหาหนังสือจะพาผู้อ่านวิเคราะห์การนิยามเดิมของท้องถิ่นภาคเหนือ จากน้อถกเถียงที่สร้างความทรงจำว่าล้านนาคือพื้นที่ที่มีอยู่เพียงหัวเมืองเชียงใหม่ 
รวมถีงการตั้งคำถามและถกเถียงกับประวัติศาสตร์ที่เขียนอธิบายและการสร้างตัวตนระหว่าง “คนเมือง” ”คนไทย” และใครที่กลายเป็น “คนอื่น”

ประวัติศาสตร์เทืองแพร่ รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายใน ภายใต้วาทกรรม “รัฐชาติ”
โดย ชัยพงษ์ สำเนียง

ประวัติศาสตร์เมืองแพร่หลังทศวรรษที่ 2500 นอกจากถูกรับรู้ในฐานะเมืองกบฏแล้ว ยังถูกสร้างและรับรู้ในฐานะ “เมืองชายขอบของการพัฒนา” จนนำไปสู่ปัญหาด้าน “วิกฤตอัตลักษณ์”  ที่สร้างความเข้าใจผิดเพี้ยนของรากเง้าในอดีตของชาวแพร่

รวมถึงการช่วงชิงอำนาจการเขียนประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง ทำให้เมืองแพร่อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสถานะเมืองประเทศราชของสยามในช่วง พ.ศ. 2313 – ต้นทศวรรษที่ 2430

 หนังสือเล่มนี้จึงพยายามนำเสนอชุดความจริงและความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากคนในท้องถิ่นที่จะมาคัดง้าง วิพากษณ์วิจารณ์วรรทกรรมการครอบงำของรัฐไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนแพร่พยายามต่อการช่วงชิงการอธิบายตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอด


Design a site like this with WordPress.com
Get started