[Book Re:commendation]พระราชาของมหานครแห่งชีวิต และความมั่งคลั่ง

พระราชาของมหานครแห่งชีวิต และความมั่งคลั่ง

การตั้งคำถามกับความปกติ และความธรรมดาของยุคสมัย ชวนอ่านโดย ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ 

พระราชา ของมหานครแห่งชีวิต และความมั่งคลั่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น เขียนโดย เปีย วรรณา สะท้อนมุมมองสังคมที่เราประสบพบเจอ ต่อสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครรู้สึกอยากตั้งคำถามกลับ รวมถึงสิ่งที่เราเผชิญต่อเหตุการณ์ในชีวิประจำวัน เช่น การเปลี่ยนแว่นตา การปลูกต้นไม้ การออกไปงานชุมนุมเรียกร้องสิทธิของวัยหนุ่มสาว สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมของเรื่องราวอันเรียบง่ายที่คุณเปียได้ถ่ายทอดในงานเขียนของเธอ

อีกด้านหนึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้ดึงเอาบรรยากาศเหตุการณ์ทางสังคมของไทยมาเล่า เช่นเรื่อง “ผู้สืบทอด” ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องสั้นในเล่มนี้ ที่เล่าถึงเส้นเวลาคู่ขนานระหว่างบรรยากาศของงานสัปดาห์หนังสือที่เชียงใหม่ กับการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยาการของการเล่าเรื่องดำเนินไปประหนึ่งเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปที่ไม่หวือหวา นิ่งเรียบ แต่กลับชวนให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้าพวกเขานั้นคือเรื่องปกติที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของพวกเขา เช่น การจับตามองของหน่วยงานทหารที่มีต่องานชุมนุม  การบุกจับนักศึกษา แม่ค้าร้านอาหารในงานสัปดาห์หนังสือที่รายได้น้อยลง


ซึ่งเป็นความธรรมดาที่ดำเนินไปอย่างนิ่งเรียบแต่กลับหัวกลับหาง การพูดคุยเรื่องสิทธิ เสรีภาพเป็นเรื่องต้องระมัดระวัง และตื่นกลัว ผู้มีอำนาจบริหารจัดการรัฐด้วยอำนาจที่ไม่ถูกตั้งคำถาม ทุกอย่างถูกทำให้เป็นสิ่งปกติธรรมดาเสียจนเราลืมเลือนต่อสิ่งที่เราเคยมี จนเป็นความคลั่งที่แสนเงียบงัน

ความ “มั่งคลั่ง” จากชื่อของหนังสือเองจึงถูกตั้งคำถามเช่นกัน ว่า สังคมนั้น เต็มไปด้วยความ “คลั่ง” ที่เกิดจากการเชื่อฟังรัฐโดยไม่เคยกลับไปตั้งคำถาม ดังนั้นการลดความ “คลั่ง” ขอยุคสมัยที่อำนาจถูกใช้อย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล คือการตั้งคำถามกลับต่ออำนาจที่ทำให้เราคลั่ง ความคลั่งที่ถูกทำให้เป็นสิ่งปกติธรรมดา เราจะยังคงปล่อยให้ความปกติสุขที่ถูกกำกับนี้เกิดขึ้นอยู่อีกต่อไปถึงเมื่อไหร่

Design a site like this with WordPress.com
Get started