Gender&amp : LGBTIQs in Modern Society 2015



งาน Gender&LGBTIQs in Modern Society
สถานที่ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หัวข้อ “ปรากฏการณ์และกำเนิดขบวนการ Gender&LGBTIQs ในไทยและต่างประเทศ”

วิทยากร
-ดาราณี ทองศิริ Buku Classroom
-โตมร ศุขปรีชา บก.บห. นิตยสาร GM

ผู้ดำเนินรายการ
จณิษฐ์ เฟื่องฟู มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


  • งาน Gender Talk และนิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศที่จัดขึ้นในหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ครั้งนี้ เป็นปลายทางของโครงการเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ที่ Book Re:public จัดขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดปัตตานี (ร่วมกับ Patani Foru
  • งาน Gender Talk และนิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศที่จัดขึ้นในหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ครั้งนี้ เป็นปลายทางของโครงการเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ที่ Book Re:public จัดขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดปัตตานี (ร่วมกับ Patani Forum)
  • กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมใหญ่กิจกรรมแรกของเราหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งทำให้ต้องปิดร้านและพักกิจกรรมเป็นการชั่วคราวก่อนหน้านี้
  •  แม้ช่วงแรกของกิจกรรมจะมีปัญหาอุปสรรคจากทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการให้งดการจัดกิจกรรมก่อนการเริ่มงานหนึ่งชั่วโมง เนื่องมาจากความเข้าใจผิดว่าเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง ในที่สุดงานก็สามารถจัดได้ต่อไปโดยการรับรองจากคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“…..ความเกลียดชัง (hate) มีหลายระดับ มีทั้งระดับความรุนแรงทางตรงที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการเดินเข้ามาแล้วเข้าไปฆ่า เข้าไปชกต่อยตบตี และมีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) แบบที่เราไม่คิดว่ามันจะเป็น อาชญากรรมจากความเกลียดชัง เป็นความเกลียดชังที่แฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมของเรา หรือ culture hate ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่กลุ่ม LGBT ด้วย แต่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงที่อยากจะลุกขึ้นมาบอกว่าฉันมีเสรีภาพทางเพศ ก็เสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังตั้งแต่ระดับวัฒนธรรมจนกระทั่งถึงการใช้ความรุนแรงทางตรงกับร่างกาย เพราะฉะนั้นภาวการณ์ที่ “สังคมไทยยอมรับได้อย่างไม่เป็นทางการ” กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในขณะเดียวกันก็มี “การไม่ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการ” อยู่ด้วย มันมีการไม่ยอมรับอยู่ด้วยในการยอมรับ…”

[โตมร ศุขปรีชา – เสวนาปรากฏการณ์และกำเนิดขบวนการ Gender & LGBTIQs ในไทยและต่างประเทศ]

“…..ในฐานะนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราคิดว่า ‘ฐานคิดเรื่องความเป็นเพศ’ คือประเด็นที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรจะให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศให้ขยับในสังคมไทย จากคำถามตั้งต้นที่ว่าเราจะทำยังไง เพื่อเปลี่ยนฐานคิดเรื่องเพศของคนที่เติบโตมาโดยถูกสังคมหล่อหลอม ถูกบอก ถูกสอนตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน สื่อ และทุกๆ มาตลอดว่าคุณควรเป็นเพศอะไร คุณควรทำตัวยังไง



ในขณะที่แบบเรียนสุขศึกษามัธยมต้นยังสอนให้นักเรียนจำว่าหญิงและชายควรทำตัวยังไง ยังมองว่า LGBT ยังเป็นคนที่เบี่ยงเบนทางเพศ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเราจึงเป็นกระบวนการสร้างการศึกษา การสร้างกระบวนการรับรู้ รวมไปถึงฐานคิดเรื่องความเป็นเพศและเพศวิถีที่เลื่อนไหลเหล่านี้ให้มันเข้าไปอยู่ในเนื้อตัวของทุกๆ คนในสังคม ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้มันจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนเรื่องอื่นๆ ด้วย เราจะต้องพูดเรื่องนี้ภายใต้หลักการที่ว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน ถ้ายึดหลักนี้ไว้ให้ได้และสามารถปรับมันให้เข้ากับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ ประเด็นมันจะค่อยๆ ขยับไปทีละนิดทั้งในเชิงของครอบครัว ในเชิงของปัจเจกชน ในเชิงของกฎหมาย หรือในเชิงของการศึกษาก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เราเห็นว่าสำคัญมากที่สุดในเวลานี้สำหรับในการทำงานเรื่องนี้ คือการต้องมีสิทธิ์พูดในที่สาธารณะอย่างเป็นสาธารณะ ถ้าแค่การพูดในที่สาธารณะเรายังไม่สามารถทำได้ ยังไม่สามารถมี freedom of expression ได้ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเองก็คงขยับไม่ได้……”

           [ดาราณี ทองศิริ – เสวนาปรากฏการณ์และกำเนิดขบวนการ Gender & LGBTIQs ในไทยและต่างประเทศ]

“…..ก่อนหน้านี้ LGBT ในไทยมักจะถูกนิยามหรืออธิบายตัวตนผ่านคนอื่นที่อาจเป็นหรือไม่ได้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศเหล่านั้น อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ ผู้เผยแผ่ศาสนา แพทย์ ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1950-1960 มีการขยายความสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศขึ้น โดยผู้มีความหลากหลายทางเพศจะถูกนิยามโดยนักสรีรวิทยา นักชีววิทยา เช่นนายแพทย์สุด แสนวิเชียร ที่เคยนิยามความเป็นกะเทยแท้ กะเทยเทียม ต่างๆ นานา เช่นเดียวกัน บุคคลที่เราส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เขาก็กล่าวเอาไว้ว่า  “นอกจากเกย์จะเป็นปัญหาในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์แล้ว ยังเป็นปัญหาต่อสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน” ซึ่งปัจจุบันของเขา ณ ขณะนั้นคือช่วงปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) เขากล่าวต่ออีกว่า “ในครั้งโบราณ ปรากฏการณ์ของการเป็นเกย์อาจมีไม่มาก และเกย์เป็นฝ่ายได้รับทุกข์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันมีการระบาดของการเป็นเกย์ เพราะมีการระบาดเป็นจำนวนมากอย่างน่าตกใจ และเกย์เป็นชนวนของโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่กำลังลุกลามทั่วโลก ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิต สังคม เศรษฐกิจ แก่มนุษยชาติอย่างร้ายแรง” นี่คือการนิยามเกย์ของคุณประเวศ วะสี
คำนิยามเกย์ต่างๆ นี้มีการนำมาใช้ในสังคมไทยช่วงปี ค.ศ. 1960 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นการนำมาใช้อย่างสะเปะสะปะ มีการเรียกเกย์ว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ค้าบริการทางเพศให้กับชาวต่างชาติบ้าง เป็นพฤติกรรมทางเพศของคนที่อยู่ในเรือนจำเท่านั้นบ้าง จนกระทั่งสังคมเริ่มตระหนักได้ว่าคำว่าเกย์ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เขาเข้าใจกันตอนแรก ความจริงมันเป็นเพศสภาพและอัตลักษณ์อย่างหนึ่งในสังคมที่มีความหลากหลาย การเคลื่อนไหวของ LGBT เนี่ยจึงเป็นการบ่งบอกถึงตัวตนของเขา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเคลื่อนไหวที่มีพื้นฐานของการสร้างอัตลักษณ์ด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งการสร้างอัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ในระยะแรกเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่มีลักษณะของ essentialism ก็คือการพยายามสร้างความเป็นเอกภาพ มีความจริงแท้แน่นอนร่วมกัน เกย์ก็จะมีภราดรภาพ เลสเบี้ยนก็จะมีภคนีภาพ มีธงชาติร่วมกัน พอตั้งแต่ ค.ศ. 1978 เป็นต้นมาก็มีเพลงชาติร่วมกันด้วย เกย์ไม่ได้อยู่ในฐานะของเพศสภาพอีกแล้ว แต่เกย์อยู่ในฐานะของรัฐชาติ ความเป็นชาติพันธุ์หรือเปล่า

แต่ถึงอย่างนั้น เพลงชาติที่ว่านี้ก็มีความหลากหลาย อย่างยุคหลังๆ นี้ก็จะเป็นเพลง Born This Way ของ Lady Gaga ก่อนหน้านั้นก็จะเป็นเพลง Vouge ของ Madonna มีเพลง I’ll Survive ของ Gloria Gaynor แสดงว่าเกย์มีรากเหง้าบางอย่างร่วมกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และไม่ได้แสดงถึงความแตกต่างหลากหลายอะไรเลย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่แพทย์ หมอสอนศาสนา นักสรีรวิทยา หรือพระ ที่คอยบอกว่าเกย์มีลักษณะอย่างไร เป็นกะเทยแท้หรือกะเทยเทียม ยุคหนึ่งกลุ่มเพศหลากหลายเองก็นำแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์แบบนี้มานิยามตัวตนเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าในช่วงนั้น เกย์มีความจำเป็นต้องสร้างความภาคภูมิใจในตัวตนร่วมกัน เพื่อเปิดเผยตัวเองออกมา ให้คนยอมรับว่าเกย์ก็มีที่ยืนในสังคม ในพื้นที่สาธารณะ สร้างคอนเซ็ปต์ความเป็นเกย์ขึ้นมาใหม่ ขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่มีการใช้คำว่าเกย์ในฐานะเพศสภาพ แต่เป็นการใช้คำว่า sodomy หรือการร่วมเพศทางทวารหนักหรือทางปาก หรือมีการใช้คำว่า homosexual ในช่วงที่นักจิตวิเคราะห์พยายามอธิบายตัวตนของเพศหลากหลายอะไรก็ว่าไป


แต่ถึงกระนั้นการสร้างตัวตนของเกย์ก็มีการพยายามสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ขึ้นมา มีการพยายามโยงไปถึงการรักเพศเดียวกันในยุคก่อนที่พระเยซูจะเกิดด้วย มีการเชื่อมโยงว่ากลุ่มคนในยุคกรีกโรมันมีความเชื่อมโยงเดียวกับเกย์ที่อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ค่อนข้างอันตรายนะครับในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน เหมือนการสร้างประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยก็โยงไปถึงเทือกเขาอัลไตอย่างที่หลายคนยังเชื่อกันอยู่ การพยายามนิยาม เขียนประวัติศาสตร์โดยยึดโยงกับคุณค่าหรืออะไรบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถามว่ามันพยายามนำไปสู่ความเป็น essentialism หรือเปล่า เพราะถ้ามองแล้วความหลากหลายทางเพศในแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะเกย์ เลสเบี้ยน LGBT มันก็มีความหลากหลายในตัวของเขาอยู่เหมือนกัน เกย์ล้านนา เกย์เชียงใหม่ก็อาจไม่เหมือนกับเกย์กรุงเทพฯ มันก็มีความหลากหลายในแง่ภูมิภาค รวมไปถึงชนชั้น ชาติพันธุ์ สังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ…..”

[ชานันท์ ยอดหงษ์ – เสวนาแลไปข้างหน้า พลวัตความเคลื่อนไหวของ Gender&LGBTIQs]

Design a site like this with WordPress.com
Get started